เหตุผลทำไมประชาชนถึงไม่มี “เสรีภาพ” เท่าที่ควร

 

เวลาที่มีเวทีทางการเมืองหรือ สัมนาทางวิชาการ เรามักจะได้ยินคำว่าสิทธิเสรีภาพอยู่บ่อยครั้ง ยิ่งในช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้นำประเทศกับเกิดการปฎิวัติขึ้น คนส่วนใหญ่ก็จะลุกขึ้นมาประท้วงเพื่อเรียกร้องเสรีภาพ ซึ่งก่อนที่เราจะเรียกหาเสรีภาพ เราควรทำความเข้าใจก่อนว่า เสรีภาพ คืออะไร

“เสรีภาพ” หมายถึง สถานภาพของบุคคลที่ไม่ต้องตกอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ใด มีอำนาจที่จะกระทำการอย่างใด อย่างหนึ่ง หรือจะไม่ทำการอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตที่ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน

โดยสามารถแบ่งสิทธิเสรีภาพออกได้ 2 รูปแบบด้วยกัน คือ

  1. สิทธิเสรีภาพทางการเมือง : คือความเสมอภาค สิทธิที่จะไม่ถูกทรมานหรือได้รับการปฎิบัติอันโหดร้าย สิทธิที่จะมีความเชื่อมั่นคงปลอดภัยในการดำรงชีวิต ไม่ถูกสอดแทรกในชีวิตส่วนตัว
  2. สิทธิเศรษฐกิจและสังคม : ในช่วงแรกจะเน้นเรื่องของการยอมรับในความเป็นมนุษย์ แต่ด้วยที่ปัจจุบันระบบเศรษฐกิจและสังคมมีแนวโน้มการพัฒนามากขึ้น มีความซับซ้อนมากขึ้น จึงกลายเป็นภารกิจของรัฐไป

ส่วนปัญหาที่ว่าทำไมประชาชนถึงไม่มีเสรีภาพเท่าที่ควรนั้น เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งเรื่องของการเมืองการปกครองที่ประชาชนยังไม่มีสิทธิเสรีภาพในการเรียกร้องสิ่งที่ตนเองหรือกลุ่มของตนเองต้องการได้อย่างแท้จริง ถึงแม้ว่าประเทศจะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่ประชาชนเองก็ยังไม่สามารถที่จะออกเสียงได้ เพราะยังกลัวเกรงต่ออำนาจทางการเมือง และส่วนหนึ่งก็มาจากระบบเศรษฐกิจ ที่ยังคงมีความเหลื่อมล้ำในหลายกรณี เช่น สินค้าที่มีการผูกขาดโดยธรรมชาติหรือบริการ ได้แก่ การบริการด้านสาธารณูปโภค (น้ำประปา, ไฟฟ้า, โทรศัพท์) โครงสร้างพื้นฐาน (ถนน เขื่อน สะพาน)  สิ่งเหล่านี้ต้องใช้การลงทุนสูง กว่าจะคืนทุนก็ใช้ระยะเวลายาวนาน เอกชนจึงไม่กล้าลงทุน สุดท้ายรัฐบาลก็เป็นผู้ผูกขาดทั้งหมด เมื่อมีการปรับขึ้นราคาประชาชนเองก็ไม่มีเสรีภาพในการคัดค้านไม่เห็นด้วยก็ต้องยิ่งยอมทำตามที่รัฐเป็นผู้กำหนด

และถ้าหากว่าเป็นระบบเศรษฐกิจที่เป็นลักษณะคอมมิวนิสต์ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะรัฐบาลเป็นเจ้าของทรัพยากรต่างๆรวมทั้งปัจจัยการผลิตทุกชนิด รัฐมีหน้าที่จัดสรรว่าควรผลิตอะไร ผลิตเพื่อใคร ทำให้ประชาชนขาดเสรีภาพในความต้องการเลือกบริโภคได้ตามใจ สินค้าที่ถูกผลิตออกมาก็ไม่มีคุณภาพ ด้วยสาเหตุว่าผลิตออกมาอย่างไร ผู้บริโภคก็จะต้องบริโภคตามนั้น ไม่มีสิทธิเลือกว่าจะไม่บริโภคหรือไม่บริโภคได้

ดังนั้นสามารถสรุปได้ว่าเสรีภาพของประชาชนขึ้นอยู่กับผู้นำประเทศทั้งระบบการเมืองและเศรษฐกิจเป็นหลัก ถึงรัฐธรรมนูญจะกำหนดสิทธิเสรีภาพไว้อย่างกว้างขวางแต่ในทางปฎิบัติจริงยังมีข้อจำกัดต่างๆอีกมากมาย ทั้งในแง่ของกฎหมายที่ใช้อยู่กับความเป็นจริง จึงอาจกล่าวได้ว่าเสรีภาพเป็นแค่ตัวอักษรที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น